ข้าพเจ้านางสาวดนุนุช จันทพร เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยได้รับผิดชอบพื้นที่ ตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการจัดสรรบุคลากรที่มีศักยภาพทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างหางานหรือกำลังทำงานอยู่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ให้มีการเติบโตและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างยั่งยืน โดยข้าพเจ้าจะเข้าไปทำงานกับชุมชนที่ ตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน
การลงพื้นที่ ณ ชุมชนบ้านหนองกะทิง หมู่ที่ 1 ตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 พบว่าชุมชนบ้านหนองกะทิงเป็นชุมชนที่น่าอยู่ สะอาด และมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อุดมไปด้วยแหล่งน้ำ พืชผัก และสมุนไพรต่างๆที่ชาวบ้านในชุมชนนำมาทำน้ำสมุนไพรจำหน่ายเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี และมี “กลุ่มอาชีพน้ำสมุนไพร” ที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพในชุมชนมีสมาชิกจำนวน 25 คน ในการผลิตน้ำสมุนไพร
จากการสอบถามชาวบ้านในชุมชนเบื้องต้นเกี่ยวกับการผลิตน้ำสมุนไพรออกจำหน่ายนั้น มีสินค้าด้วยกันดังนี้คือ 1.น้ำมัลเบอร์รี่ 2.น้ำตะไคร้ใบเตย 3.น้ำอัญชัน 4.น้ำข้าวโพด 5.ชาใบหม่อนแบบอบแห้งประเภทชงดื่ม 6.ชาใบเตยแบบอบแห้งประเภทชงดื่ม และ 7.ไวน์มัลเบอร์รี่ โดยวัตถุดิบที่นำมาทำน้ำสมุนไพรต่างๆนี้ ล้วนเป็นพืชสมุนไพรที่ชาวบ้านได้ปลูกกันในชุมชนเป็นวิถีชีวิตปกติอยู่แล้ว และการนำน้ำสมุนไพรที่เป็นสินค้า O-TOP ของชุมชนออกจำหน่ายนั้น นำไปจำหน่ายในร้านค้าชุมชนและชุมชนใกล้เคียง รวมไปถึงสถานที่ราชการบริเวณใกล้เคียงด้วย
การลงพื้นที่ครั้งนี้ข้าพเจ้าพบว่าปัญหาของชาวบ้านในชุมชนที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตน้ำสมุนไพรออกจำหน่ายนั่นคือ 1.ชาวบ้านไม่มีอุปกรณ์และเครื่องมือเป็นของส่วนกลางในการผลิตสินค้า และต้องยืมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆจากสมาชิกในชุมชนด้วยกันมาใช้ 2.น้ำสมุนไพรบางชนิด เช่น น้ำข้าวโพด จะมีอายุการเก็บรักษาประมาณ2-3วัน ซึ่งอายุการเก็บรักษาสั้นกว่าน้ำสมุนไพรชนิดอื่น 3.ชาวบ้านไม่มีบรรจุภัณฑ์และชื่อแบรนด์ที่น่าสนใจ และยังไม่สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าบางกลุ่มได้ 4.ชาวบ้านมีความต้องการโปรโมตสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์โดยการเปิด Facebook fanpage เพื่อเป็นการโปรโมตสินค้าของทางชุมชนให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นและช่วยเพิ่มรายได้ให้กับทางชุมชน 5.ชาวบ้านในชุมชนมีความต้องการในการพัฒนาสินค้าของตนเพื่อให้ได้มาตรฐานทาง อย. และเป้าหมายในการพัฒนาสินค้าในมีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะเพื่อเป็นแนวทางในการได้รับเครื่องหมาย อย. ในอนาคตอีกด้วย
จากที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่า ทีมผู้ปฏิบัติงานของ ตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์นั้น ทางทีมผู้ปฏิบัติงานจะร่วมกันช่วยพัฒนากลุ่มอาชีพน้ำสมุนไพรของ ตำบลหนองกะทิง ดังต่อไปนี้ คือ 1.จัดซื้อจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิตน้ำสมุนไพรให้กับทางชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ใช้เป็นส่วนกลางในการผลิต 2.อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเก็บรักษา ยืดอายุของน้ำสมุนไพรบางชนิด 3.ออกแบบและจัดหาบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน และจัดทำโลโก้แบรนด์สินค้าเพื่อเป็นการยกระดับสินค้าให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น 4.จัดทำการตลาดออนไลน์โดยการเปิด Facebook fanpage เพื่อเป็นการโปรโมตสินค้าของท่านชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและเพิ่มยอดขายสินค้า โดยผู้ปฏิบัติจะยึดหลัก BCG ECONOMY และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ DESIGN THINKING ในการทำงาน โดยข้าพเจ้าหวังว่าทีมผู้ปฏิบัติงานจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับกลุ่มอาชีพของตำบลหนองกะทิงให้มีคุณภาพและสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับทางชุมชนเพื่อเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์ของชุมชนต่อไป