หลักสูตร: HS20-2 โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิด ด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development)

ข้าพเจ้า นางสาวอริสรา บวรปารเมศ ผู้ปฏิบัติงาน ประเภทประชาชน ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and and Regional Development) หรือ โครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG” โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสรรบุคลากรที่มีศักยภาพทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างหางานหรือกำลังทำงานอยู่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ให้มีการเติบโตและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างยั่งยืน โดยข้าพเจ้าจะเข้าไปทำงานกับชุมชนที่ ตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน

วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงาน ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล TCD (Thailand Community Data) โดยหมู่บ้านที่ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานบางส่วนได้ทำการสำรวจมีทั้งหมด 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสระแร่ บ้านบัว บ้านหนองกะทิง หมู่ที่1 และบ้านหนองผะองค์น้อย หมู่ที่9 โดยที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบสำรวจหมู่บ้านหนองผะองค์น้อย หมู่ที่9 จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า บ้านหนองผะองค์น้อย หมู่ที่9 มีร้านค้าเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ร้านสหกรณ์ประจำหมู่บ้าน ร้านขายของชำ และร้านขายต้นไม้อีกจำนวน 4 ร้าน นอกจากนี้ หมู่บ้านหนองผะองค์น้อย หมู่ที่9 ยังมีทรัพยากรอื่นๆอีกมากมาย ได้แก่ ที่พักประเภทรีสอร์ท จำนวน 1 แห่ง ชื่อว่า “ไม้ดอกรีสอร์ท” แหล่งน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ ภูกระทิง และประปากลางหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่คนในชุมชนใช้อุปโภคและบริโภคในปัจจุบัน และข้าพเจ้ายังได้พูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอรายชื่อเกษตรกรที่มีอยู่ในหมู่บ้านทั้งหมด เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการสำรวจ TCD (Thailand Community Data)

วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานบางส่วน ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล TCD (Thailand Community Data) เพิ่มเติม โดยได้ลงพื้นที่ทั้งหมด 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านหนองซอแซ และหมู่บ้านหนองผะองค์น้อย หมู่ที่9 ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบหมู่บ้านหนองผะองค์น้อยเช่นเดิม โดยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ ได้แก่ 1.พืชประจำถิ่น เช่น ต้นกระถิน ต้นผักขี้เหล็ก ต้นตะขบ ต้นกล้วย เป็นต้น 2.สัตว์ประจำถิ่น ได้แก่ ไก่บ้าน ไก่ชน วัว ควาย และสุนัข และ 3.อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น เช่น ต้มยำไก่บ้าน แกงหน่อไม้ แกงเห็ดป่า เป็นต้น จากการสำรวจทั้งสองครั้ง ข้าพเจ้าค้นพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และมักจะนำวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาประกอบอาหารเพื่อรับประทานกันในครัวเรือนอยู่เสมอ

นอกจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล TCD แล้ว ข้าพเจ้ายังได้รับมอบหมายหน้าที่จากอาจารย์ประจำตำบล ให้เป็นผู้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ สำหรับชาใบเตย ชาใบหม่อน และน้ำสมุนไพรอีกด้วย ซึ่งข้าพเจ้าได้ทำการออกแบบไปแล้วกว่า 70% ได้แก่ บรรจุภัณฑ์แบบกล่อง สำหรับชาใบเตยและชาใบหม่อน บรรจุภัณฑ์แบบขวด สำหรับบรรจุน้ำสมุนไพร และฉลากสำหรับแปะที่ขวดของน้ำสมุนไพร โดยใช้โปรแกรม Adobe Photoshop และ Adobe Aillustrator  ในการปฏิบัติงาน ซึ่งข้าพเจ้าได้มีการส่งผลงานให้กับอาจารย์ประจำตำบลและสมาชิกในทีมผู้ปฏิบัติงานให้ช่วยพิจารณาอยู่เป็นระยะๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกประการ เพื่อที่จะสามารถนำมาเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการผลิตสินค้าออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดต่อไป