กระเป๋าสตางค์กะลาจากบ้านพาชี
พรสินี ทิมมุกดา
กระเป๋าสตางค์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์เพื่อใช้ในการเก็บธนบัตร เหรียญ ปลอดภัยและสะดวกต่อการพกพา มีกระเป๋ารูปแบบต่างๆมีการออกแบบและสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป ทางผู้ปฏิบัติงานจึงได้นำเสนอกระเป๋าสตางค์จากกะลา เป็นผลิตภัณฑ์อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านพาชี ตำบลปังกู อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นการนำวัสดุธรรมชาติที่หลงเหลือมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผู้ฏิบัติงานได้เข้าสัมภาษณ์คุณตาสุพร นิลดำ ผู้สร้างผลิตภัณฑ์จากกะลามาเป็นเวลากว่า 30 ปี และสอบถามวิธีการทำต่างๆว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง รวมไปถึงวิธีการที่ทำให้กะลามีความเงาสวยงาม ดังนี้
ขั้นตอนในการทำชิ้นส่วนกระเป๋าสตางค์จากกะลา
- คัดเลือกกะลามะพร้าวตามขนาดที่ต้องการทำการเจียเนื้อมะพร้าวที่แห้งติดกับตัวกะลาดานในออกให้หมดโดยขนาดมาตรฐานในการทำกระเป๋านั้นคือ 3.5 ถึง 4.0 นิ้ว และกะลาจะต้องไม่งอจนเกินไป
- นำแบบมาวาดร่างไว้ในกะลา ก่อนที่จะนำไปตัดตามแบบ และเกลาขอบให้มีความมนมากยิ่งขึ้น
- เมื่อได้รูปทรงชิ้นส่วนกระเป๋าตามที่ต้องการแล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการเดินเงาเพื่อให้ชิ้นงานมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
ขั้นตอนในการเดินเงา
- ขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 120 โดยใช้เครื่องจักรเป็นเครื่องขัด เพื่อเอาชั้นเปลือกที่หยาบที่สุดของใยมะพร้าวออก
- เริ่มเดินเงาขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 240 เพื่อเก็บรายละเอียดและเสี้ยนของใยมะพร้าว
- เดินเงาด้วยกระดาษทรายเบอร์ที่ละเอียดที่สุดคือเบอร์ 400 จะทำให้ผิวของกะลานั้นเริ่มมีความเงาขึ้น
- และขั้นตอนสุดท้าย คือการเดินเงาด้วยผ้าขัดและใช้ดินขัดเงาที่ทำจากสันหลังปลาวาฬทาลงบนผ้าและเดินเงาที่กะลา เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ผิวของกะลานั้นมีความเงางามและเรียบเนียน