ข้าพเจ้า นางสาวสุวัจนี โพธิ์ชัย  บัณฑิต ผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองโบสถ์

 

โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T For BCG เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้บัณฑิตและประชาชนผู้ว่างงานได้เข้ามาพัฒนาชุนชนบ้านเกิดของตนเอง ภายหลังจากเหตุการณ์โรคระบาดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจรากฐานของประเทศ ทั้งนี้เพราะคำนึงถึงรากฐานของสังคมตั้งแต่ในระดับชุมชน จึงได้มีการเปิดรับสมัครคนที่ต้องการที่จะเข้าร่วมการพัฒนาครั้งนี้ ภายใต้การดูแลของ อว.  โดยได้มีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 90 แห่ง และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องร่วมทีมในการปฏิบัติงานในครั้งนี้ด้วย

ข้าพเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติงานประจำตำบลหนองโบสถ์ โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ เป็นมหาวิทยาลัยผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน และดูแลการประสานงานต่างๆด้วย

วันที่ 1 กรกฎาคม2565 ข้าพเจ้าได้เข้าปฐมนิเทศของทางกระทรวง อว. ซึ่งมีการอธิบายถึงการส่งผลงานต่างๆ และมีการกล่าวถึงกระบวนการแพลตฟอร์มต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงาน อีกทั้งมีการอบรมให้ความรู้ทางบทเรียนออนไลน์ ซึ่งเป็นบทเรียนที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจโดยเน้นให้มีการประยุกต์ทางนวัตกรรมเข้ามาช่วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจ BCG

 

หลังจากการอบรมและทำสัญญาการจ้างงานแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้มีการประชุม เพื่อชี้แจงผู้ปฏิบัติงานประจำตำบลต่างๆ ในเรื่องระบบออนไลน์ที่ใช้ปฏิบัติงาน อย่างเช่น ระบบ PBM และ MIS  รวมถึงมีการกำหนดให้มีการส่งผลงานให้ทันเวลาที่ทางกระทรวงกำหนด

โดยได้เน้นว่าต้องร่วมกันหาวิธีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยต้องการให้ดึงอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ออกมาให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นในสภาวะที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ โดยเน้นว่าต้องอยู่ภายใต้ BCG เท่านั้น

 

วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ทางทีมตำบลหนองโบสถ์มีการประชุมในทีมและลงพื้นที่ปฏิบัติงานในทันที  โดยกำหนดการลงพื้นที่ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 เพื่อดำเนินการสำรวจข้อมูลของชุมชน รวมทั้งวัตถุดิบต่างๆที่มีอยู่ในชุมชนในครั้งแรกนี้ก็ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ในชุมชนจะจัดทำผลิตภัณฑ์ใดขึ้นมา และจะใช้นวัตกรรมอย่างไรให้เหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการพัฒนาขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ของตำบล

ภายใต้หัวข้อการหารือของผู้นำชุมชน พร้อมด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาประจำโครงการและผู้ปฏิบัติงานได้ข้อสรุปดังนี้คือ จะจัดทำหมวกจากต้นไหล โดยนำมาตกแต่งและพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อสร้างคุณค่าให้มีมูลค่าเพิ่มจากเดิมเป็นเท่าตัว และอีกผลิตภัณฑ์คือปุ๋ยใบไม้ จากเศษใบไม้ คือใบสะเดาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในสวนของชาวบ้าน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน นอกจากการทำเกษตรกรรมด้วยอีกทางหนึ่ง

กล่าวโดยรวมคือ สำหรับผลิตภัณฑ์ของทีมตำบลหนองโบสถ์นั้นได้รังสรรค์ออกมาได้ตรงตามความต้องการของโครงการ ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของนวัตกรรมเศรษฐกิจแบบ BCG  คือการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ประจำตำบล สอดคล้องกับชีวภาพ การหมุนเวียนในธรรมชาติ ทั้งนี้มีการใช้เทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมที่ไม่จำเป็นต้องซับซ้อนมากเข้ามาประยุกต์ ตามที่โครงการได้จัดการอบรมเพิ่มเติมความรู้ไว้ในเบื้องต้น

อีกทั้งในขั้นตอนและกระบวนการต่างๆในการสร้างผลิตภัณฑ์ก็ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการตามหลักการและวัตถุประสงค์ความต้องการของโครงการ เพราะเมื่อพิจารณาแล้วนั้นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ข้างต้นนั้น ก็ตรงตามวัตถุประสงค์โครงการชัดเจน

1.หมวกสานจากต้นไหลนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ากันได้กับเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียว ส่งผลถึงการใช้วัตถุดิบที่มีในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการลดต้นทุนของการผลิต สามารถนำมาต่อยอดสร้างคุณค่าเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและความขาดแคลนของระบบนิเวศอย่างมีนัยสำคัญ

2.ส่วนปุ๋ยใบไม้นั้นสอดคล้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ ที่เชื่อมโยงได้ทั้งเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพราะหากดูจากองค์ประกอบแล้ว ทั้ง3ระบบนี้สอดคล้องกันโดยมีนัยสำคัญ คือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับการใช้วัสดุและวัตถุดิบต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดมลภาวะที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการมุ่งแก้ปัญหามลพิษที่โลกเผชิญอยู่

กล่าวโดยสรุปคือ ในส่วนของปุ๋ยใบไม้เป็นเศรษฐกิจชีวภาพ เน้นการสร้างเศรษฐกิจบนฐานของการพัฒนาและนวัตกรรมการใช้ทรัพยากรฐานชีวภาพ คือเป็นผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็น ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ที่มีมูลค่าสูง ก่อให้เกิดความก้าวหน้าและนวัตกรรมในมิติใหม่ๆ